ปลูกต้นไม้ ลดฝุ่นพิษ PM2.5 ช่วยฟอกอากาศได้จริง!!
“ต้นไม้” วิธีที่ยั่งยืนในการลดปัญหาฝุ่นควัน เพิ่มออกซิเจน และลดมลพิษทางอากาศ
สถานการณ์ฝุ่นพิษเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีอนุภาคขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและทางเดินหายใจได้
ข้อมูล ณ เดือน มกราคม พ.ศ.2562 พบปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับวิกฤติโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีค่า PM2.5 สูงติดระดับ Top 10 ของโลก โดยมีค่าสูงถึงประมาณ 160 US AQI ซึ่งไม่เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นที่มีค่าสูงเกินเกณฑ์ จังหวัดเชียงใหม่ก็พบสูงถึง 150 US AQI เช่นกัน (อ้างอิงจาก AirVisual 30 ม.ค. 2562)
ปัจจุบันจะพบว่าหน่วยงานต่าง ๆ กำลังแก้ปัญหาอย่างหนัก ทั้งการพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นในอากาศเพื่อดักจับฝุ่น การออกประกาศหยุดโรงเรียนและให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง การประชาสัมพันธ์ให้ใส่หน้ากากอนามัย N95 แต่ยังมีอีกวิธีที่มีงานวิจัยรองรับว่าได้ผลจริงได้แก่การปลูกต้นไม้ ซึ่งสามารถช่วยจับฝุ่นและยังเพิ่มออกซิเจนในอากาศได้
จากงานวิจัยของผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทยและคณะ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล จะพบว่าพืชสามารถดักจับฝุ่นได้ โดยฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน จะถูกพัดพา หรือตกลง ในใบพืชที่มีผิวใบที่มีความชื้น ผิวหยาบ มีขน หรือผิวใบที่มีประจุไฟฟ้า ซึ่งฝุ่นบางส่วนจะถูกดักจับไว้ที่ผิวใบเมื่อฝนตกก็จะถูกชะล้างลงสู่พื้นดิน แต่หากผิวใบมีความเหนียวมาก ฝุ่นละอองจะหลุดออกจากผิวของใบได้ยากขึ้น ต้องรอให้ใบร่วงฝุ่นจึงจะกลับลงมาสู่พื้นดิน โดยพืชทุกชนิดสามารถดักจับฝุ่นได้แต่จะมากหรือน้อยขึ้นกับลักษณะของผิวใบและความเข้มข้นของฝุ่นละอองในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
ชนิดของใบพืชที่เหมาะสมในการดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน
ใบพืชที่มีลักษณะ เรียวเล็ก ใบหยาบ มีขนและเหนียว เช่น ตะขบฝรั่ง เถากันภัย กันภัยมหิดล เล็บมือนาง พวงประดิษฐ์ เป็นต้น นอกจากลักษณะของใบแล้ว ลักษณะของลำต้นและกิ่งก้าน ที่พันกันอย่างสลับซับซ้อนก็มีส่วนช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้เช่นกัน เช่น คริสตินา ข่อย ไทรย้อยใบแหลม ไทรเกาหลีเป็นต้น
ประโยชน์ของพืชพรรณกับการบรรเทามลพิษสำหรับชุมชนเมือง และเมืองใหญ่
- ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
- ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศ และดูดซับสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากวัสดุที่ใช้ตกแต่งอาคารได้ร้อยละ 10-90 ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่เลือกใช้
- ช่วยกรองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปลูกไม้พุ่มที่มีใบเล็กละเอียดช่วยเก็บฝุ่นได้มากถึงร้อยละ 60-80 ของพุ่มทั้งหมด
ตารางแสดงรายชื่อและประสิทธิภาพของพรรณพืชที่มีศักยภาพในการดักจับฝุ่น
พืชชนิดอื่น ๆ สามารถดักจับฝุ่นได้หรือไม่
พืชทุกชนิดสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ โดยจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ผิวใบ และสิ่งปกคลุมบนผิวใบ จากงานวิจัยในหลาย ๆ ประเทศพบว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยทั่วไปสามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนได้ประมาณ 100 กรัม ต้นไม้ใหญ่ในกรุงปักกิ่งสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ประมาณ 300 กรัมต่อปี ต้นไม้ที่โตเต็มที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถดักจับฝุ่นละอองได้ถึง 1.4 กิโลกรัม
นอกจากนี้การจัดส่วนแนวตั้งหรือทำเป็นแผงไม้เลื้อยกรองฝุ่น ปลูกตามบริเวณที่มีลมพัดฝุ่นเข้าอาคาร เช่น หน้าต่างหรือรั้วบ้านที่ตั้งติดถนน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็ก เพิ่มความสวยงาม ลดความร้อนให้กับอาคาร และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง รวมไปถึงภูมิทัศน์ให้สวยงามได้ด้วย
อุปกรณ์และวัสดุเพาะต้นไม้ คลิกเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.en.mahidol.ac.th/new/images/Factsheet_EN_Thamarat.pdf